Thursday, October 13, 2005

คนดีในสังคมไทย

"สังคมเลว เพราะคนดีท้อเเท้" คงเคยได้ยินประโยคนี้กันมาบ้างนะครับ ส่วนตัวผมรู้สึกว่าสังคมไทยให้ความสนใจกับคนดีที่ไม่รวยน้อยไปหน่อย ลองอ่านบทความข้างล่างดูนะครับเป็นเรื่องราวของคนดีในสังคมไทยที่ผมคิดว่าควรจะได้รับการสรรเสริญ เป็นบทความจากนสพ มติชน ครับ


อาลัย... "สุนทร สิทธาคม" อาสาสมัครผู้วายชนม์



"พี่ทรตายแล้ว" เสียงสั่นเครือของนางธวัลหทัย สิทธาคม "สุ" ภรรยา "นายสุนทร สิทธาคม" เปล่งออกมาจากลำคอ เพื่อแจ้งข่าวการจากไปของสามีให้กับทุกคนซึ่งกำลังประชุมกันอยู่ที่ศูนย์อาสาสมัครสึนามิวาเลนเทียเซ็นเตอร์ได้ทราบ ทุกคนดูตกใจและเศร้าใจจนยากจะบรรยาย

ทำไม... การจากไปของสุนทรทำให้หลายคนเศร้าโศกเหลือเกิน

ถ้าใครรู้จักและคลุกคลีกับผู้ชายคนนี้จะไม่สงสัยเลย เพราะเมื่อเขายังมีลมหายใจสุนทรได้สร้างสิ่งดีๆ ไว้มากมาย โดยเฉพาะการทุ่มเทแรงกายและแรงใจอย่างเกินกำลังในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เมื่อครั้งเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ

"เร็วทุกคนช่วยกันหน่อย ช่วยกันหาศพ ช่วยกันทำทุกอย่างเท่าที่เราจะช่วยพวกเขาได้" นี่คือน้ำเสียงที่ยังก้องหูเมื่อครั้งที่สุนทรลงไปทำงานเป็นอาสาสมัคร

ทั้งที่ก่อนหน้านี้สุนทรไม่เคยสัมผัสกับงานอาสาสมัครมาก่อน เขาทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว ทำหน้าที่ตกแต่งสนามหญ้า ที่สนามกอล์ฟ ฐานทัพเรือ จังหวัดพังงา ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิได้ไม่นาน สุนทรลาออกจากการทำงานที่สนามกอล์ฟ แล้วซื้อรถตู้มือสองมาวิ่งวินรับคนจากเขาหลักไปสนามบินจังหวัดพังงา

แล้วเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา เช้าวันนั้นไม่มีใครรู้เลยว่าจะเป็นวันแห่งการสูญเสียครั้งใหญ่ของประเทศไทย สุนทรยังคงทำหน้าที่รับส่งผู้โดยสารจากเขาหลักไปยังสนามบินเหมือนทุกครั้ง

หลังจากที่หนุ่มวัย 37 ปี ร่างกายกำยำขับรถตู้มุ่งหน้าไปสนามบินพร้อมนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นั่งอยู่ในรถตู้ ไม่ถึง 15 นาที คลื่นยักษ์สึนามิก็ถาโถมกันเข้ามาซัดเขาหลักจนแทบไม่เหลือแม้แต่ซากภายในพริบตาเดียว

"ตอนที่เกิดเหตุสึนามิ ญาติของพี่ทรก็ตายด้วย ฉันกับสามีมาช่วยกันหาศพญาติ แต่สถานการณ์ตอนนั้นคนตายเป็นเบือ พี่ทรตั้งใจว่าเราจะไม่หาเฉพาะศพของญาติเรา พวกเราจะช่วยหาทุกศพที่ต้องมาจบชีวิตด้วยกันตรงนั้น" สุภรรยาของสุนทรย้อนเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น

"การเข้าไปช่วยเหลือของพี่ทร พี่เขาย้ำทุกคนว่าเราจะไม่ช่วยเก็บอะไร แต่จะช่วยกันทำสัญลักษณ์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ค้นหาผู้เสียชีวิตได้ง่ายขึ้น ตอนนั้นเราช่วยกันค้นหาศพได้ประมาณ 40-50 ศพ"

คลื่นยักษ์สึนามิทำให้ผู้คนในท้องถิ่นไม่มีงานทำ รวมทั้งสุนทรและภรรยาด้วย ทั้งคู่จึงอาสาขอทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครสึนามิวาเลนเทีย (www.tsunamivolunteer.net) ที่ดำเนินการบริหารจัดการโดยกลุ่มอาสาสมัครและมูลนิธิกระจกเงา และรถตู้ที่ซื้อมาเพื่อรับส่งนักท่องเที่ยว ถูกเปลี่ยนมาใช้ในการพาเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครเข้าไปในพื้นที่เขาหลัก เข้าไปยังหาดนางรอง และอีกหลายสถานที่เพื่อไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและช่วยนำผู้เสียชีวิตกลับบ้าน

"พี่ทรเขามีความสุขมากที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น เขาบอกว่า แม้การทำงานเป็นอาสาสมัครจะไม่ได้รับเงินตอบแทน แต่สิ่งที่ได้รับกลับมามันคือความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น เพียงเท่านี้ก็มากพอแล้ว" สุเล่าพร้อมน้ำตา

"ตอนเป็นอาสาสมัครเห็นพี่ทรทำงานแล้วภูมิใจในตัวเขามาก เขาทำทุกอย่างจริงๆ เคยขับรถพาคุณหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เข้าไปในพื้นที่ เคยพาเจ้าหน้าที่อาสาสมัครคนอื่นไปเกาะคอเขา ไปบูรณะวัดเกาะคอเขา ที่วัดนี้มีพระพุทธรูปหักพัง และฝังอยู่ในดินเยอะมาก หรืออย่างเรื่องเด็กกำพร้า พี่ทรซึ่งเป็นคนในพื้นที่ได้พาเจ้าหน้าที่ไปตามหมู่บ้านเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ที่พ่อแม่เสียชีวิต พี่ทรเป็นคนในพื้นที่เป็นคนตำบลทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา"

ก่อนวันที่สุนทรจะหมดลมหายใจ เขายังคงทำหน้าที่อาสาสมัครอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าระยะหลังสุขภาพร่างกายของชายกำยำคนนี้จะทรุดลงอย่างเห็นได้ชัด

"พี่ทรเป็นนิ่วในไต หมอกำชับว่าห้ามทำงานหนัก แต่พี่เขายังทำงานอย่างหนักเหมือนเดิม เพราะทุกวันนี้คนในพื้นที่ยังต้องการความช่วยเหลืออีกมาก พวกเขาหลายคนยังไม่มีอาชีพ หลายครอบครัวยังคงเคว้งคว้างเพราะไร้ผู้นำ"

ภารกิจที่สุนทรยังทำอยู่เป็นประจำ คือการยกข้าวของที่คนนำมาบริจาคตระเวนไปส่งต่อให้ยังหมู่บ้านต่างๆ หลายครั้งที่เขาอาสาเข้าไปถึงขนของหนักทั้งถังน้ำขนาดใหญ่ที่ผู้ใจบุญนำมาบริจาค ข้าวสารกระสอบใหญ่ และอีกหลายๆ อย่าง

อาการระยะหลังของสุนทรดูจะหนักขึ้นทุกที เขาทรมานมากเวลาที่ปวดปัสสาวะ ข้าวปลาอาหารก็กินไม่ได้ น้ำหนักตัวที่เคยอ้วนถึง 120 ก็ลดลงไม่ถึง 100 กิโลกรัม

"พี่ทรแกทำงานจนลืมเวลาที่นัดกับหมอไว้ แกกลับบ้าน 2-3 ทุ่มทุกวัน จนกระทั่งวันที่ 24 กันยายน พี่เขาอาการหนักมาก ร้อนข้างในต้องเช็ดตัวให้ทั้งคืน ป้อนอะไรก็ไม่กิน ฉันเลยพาไปส่งโรงพยาบาล ตอนนั้นยังคุยกันปกติ จนสิบโมงพี่ทรบอกให้ไปเรียกลูกมาหาหน่อย ลูกมากอดมาหอมพ่อแล้วก็กลับบ้านเพราะพรุ่งนี้ต้องสอบ ตอนบ่ายโมงพี่ทรตื่นขึ้นมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เขาลืมตาไม่เหมือนเดิม ฉันเอามือมากรีดที่ฝ่าเท้าเขาเริ่มไม่รู้สึกแล้ว หมอรีบพาเข้าห้องไอซียูแล้วช่วยกันปั๊มหัวใจ"

จนกระทั่งเช้าวันที่ 25 กันยายน แพทย์บอกว่า ไตซีกหนึ่งมีนิ่วอยู่และไตก็ไม่ทำงานแล้ว อีกทั้งน้ำตาลในเส้นเลือดสูง ต้องละลายน้ำตาลในเลือด ซึ่งแพทย์บอกให้ญาติทำใจตั้งแต่ตอนนั้น

จน 9 โมงเช้าของวันที่ 26 กันยายน อาการของสุนทรเข้าขั้นวิกฤต แต่ทุกคนยังไม่ยอมให้ถอดสายออกซิเจน จนกระทั่งสุภรรยาที่อยู่กินกันมานับ 10 ปี เข้าไปกราบเท้าของสุนทร เธอพูดกับสามีว่า …

"ถ้าพ่อทรมานพ่อก็ตัดสินใจได้เลยว่าจะทำยังไงกับชีวิต ถ้าตัดสินใจจะอยู่แม้พ่อจะเป็นอย่างไร ฉันกับลูกก็พร้อมที่จะดูแลพ่อ และถ้าพ่อตัดสินใจจะไปก็ไปให้สงบ"

ภาพลมหายใจสุดท้ายของสุนทรนั้น สุยังจำได้ดี เพราะเมื่อเธอพูดจบ สามีที่นอนแน่นิ่งไม่รู้สึกรู้สา จู่ๆ ก็มีน้ำตาพรั่งพรูออกมาจากดวงตาคู่นั้น แล้ววินาทีนั้นเองดัชนีของลมหายใจที่ปรากฏบนจอมอนิเตอร์ของเครื่องวัดคลื่นหัวใจก็ลากเป็นเส้นตรง

สุนทรจากโลกใบนี้ไปตั้งแต่วินาทีนั้น แม้วันนี้จะไม่มีผู้ชายร่างกายกำยำที่ยอมทำงานอย่างทุ่มเทในฐานะอาสาสมัคร แต่เชื่อได้เลยว่าชื่อและความทรงจำดีๆ ของผู้ชายคนนี้จะยังคงอยู่ต่อไป

หลับให้สบายนะอาสาสมัครสุนทร...