Monday, August 15, 2005

ศิษย์คิดล้างครู

หลังจากหายไปนานมัวเเต่สนุกกับการเข้าไปอ่านบล๊อกคนอื่น เลยโดนเพื่อนปิ่น ว่ากล่าวตักเตือนให้เขียนบล๊อกตัวเองบ้าง

ผมเข้าไปอ่านเรื่อง คนตาบอดสอบเศรษฐศาสตร์ ของคุณร้านลาว เเล้วรู้สึกว่าน่าสนใจมากครับ อ่านไปอ่านมาเลยทำให้อยากเขียนเรื่องการสอนขึ้นมาบ้างทั้งที่ตัวเองก็ไม่เคยเป็นอาจารย์กับเค้ามาก่อน เเต่ขอคิดดังๆ บ้างละกัน

ผมเองมีประสบการณ์การสอนไม่มากเท่าไหร่ครับ เคยไปสอนเเทนชาวบ้านมาบ้างตอนที่อยู่เมืองไทย เเละสอนเเทนอาจารย์บ้าง อาทิตย์ละชั่วโมงตอนเป็น TA เเรกๆ ก็สอน อธิบายไปเรื่อยครับ ตามที่เราเรียนมา เราเข้าใจ เเต่ปรากฏว่านักเรียนเค้าไม่เข้าใจไปกับเราด้วย ตอนเเรกเสียความมั่นใจครับคิดว่าสงสัยเค้าฟังภาษาอังกฤษสำเนียงไทยอิสานของเราไม่รู้เรื่องรึเปล่า เเต่หลังๆ ลองเปลี่ยนวิธีอธิบาย เอาเเบบง่ายๆ เนียนๆ ผลปรากฏว่า นักเรียนเค้าเข้าใจเรามากขึ้น สนใจมากขี้น

จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมสมัยเรียนตรี รู้สึกว่าอาจารย์มหาลัยบางคนใช้วิธีการสอนโดยใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งทำให้วิธีการสอนออกมาในรูปเเบบที่สะดวกต่อผู้สอน ไม่ใช่สะดวกต่อผู้เรียน พูดง่ายๆ คือ อาจารย์เเกไม่ทำการบ้านมาเอาซะเลย เรียกว่าเดินมาถึงหน้าห้องถามนักเรียนว่าคาบที่เเล้วถึงไหน เเล้วก็ด้นกลอนสดกันตรงนั้นเลย ผลปรากฏว่านักเรียน นักศึกษา งง เป็นไก่ตาเเตก พาลไม่ชอบ ไม่อยากเรียนวิชานั้นไปเลย ( เป็นเหตุผลที่ผมอ้างบ่อยๆ เวลาโดดเรียน )

อย่างที่รู้ๆ กันครับว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่มีความยืดหยุ่นสูงครับ คำถามหนึ่ง มีได้มากกว่าหนึ่งคำตอบ เเล้วเเต่สถานการณ์ วิธีการตอบ อธิบาย เเละการสอนเศรษฐศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน

อาจารย์ประเภทเอาตัวเองเป็นหลักนี่สอนเเบบว่าฉันรู้มาเเล้ว พออธิบายทฤษฏี หรือ ยกตัวอย่าง ก็เลยมาจากมุมของคนที่รู้เรื่องเเล้ว เอางี้ครับลองเปรียบเทียบเวลาเราเล่นเกมส์มาริโอ ก็ได้ วิธีการเล่นในด่านที่เคยไปมาเเล้ว หรือ ผ่านมาเเล้ว กับด่านที่ยังไม่เคยไปนี่ต่างกันเห็นๆ ครับ ด่านไม่เคยไปนี่ทั้งระวังซ้าย ระวังขวา หน้าหลัง ลองโหม่งอิฐทุกก้อนว่ามันจะมีเห็ดวิเศษโผล่มาให้กินรึเปล่า

ฉันใดฉันนั้น พูดเรื่องที่เรารู้เเล้วให้คนที่ยังไม่รู้เรื่องฟัง ย่อมเเตกต่างจากการที่เราพูดให้คนที่รู้เรื่องเเล้วฟัง หากจุดประสงค์ของการสอนคือต้องการให้นักเรียนได้รู้ ได้เข้าใจ ผมคิดว่าการสอนโดยวิธีให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมครับ

เมื่ออาจารย์ให้ความสำคัญกับนักเรียนเเล้ว ตัวนักเรียนเองก็ควรจะให้ความสำคัญกับตัวเอง เเละสิ่งที่อาจารย์จะสอนด้วยครับ คือพูดง่ายๆ ว่าตั้งใจเรียนนั่นเอง ถ้านักเรียนไม่เอาซะอย่างต่อให้อาจารย์ตั้งใจเเค่ไหน ก็คงไม่เกิดผลครับ

No comments: